Main webboard   »   General Board
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   Training Team of www.wintesla2003.com  (Read: 2553 times - Reply: 0 comments)   
itong

Posts: 4 topics
Joined: 28/12/2552

Training Team of www.wintesla2003.com
« Thread Started on 18/1/2553 13:25:00 IP : 180.183.86.221 »
 
บทความนี้ทางทีมงาน Training Team of www.wintesla2003.com เป็นผู้จัดทำขึ้นมา การที่เราจะสามารถทำการซ่อมเครื่องโทรศัพท์ให้ดีนั้น เราควรจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้ให้ดีซะก่อน เราถึงจะทำการวิเคราะห์และตรวจเช็คเครื่องซ่อมได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนๆบางคนเริ่มเบื่อกับอาชีพนี้บางคนซ่อมเท่าไรก็ไม่ผ่านหรือผ่านก็ผ่าน แบบไม่ตั้งใจ ( ไม่นับอาการเปลี่ยนจอ เปลี่ยนไมค์ ลำโพงหรืองานง่ายๆนะครับ) ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า "ถ้าเราตั้งใจและให้เวลากับมัน ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้ " ที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะผมเอาตัวผมเองเป็นตัวเปรียบเทียบ ผมไม่ได้เคยคิดว่า ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตจะต้องมาเป็นช่างซ่อมโทรศัพท์ แต่มันก็ต้องเป็นเพราะสถานะการณ์มันบังคับ ผมจบทางด้าน "บัญชี " ไม่มีความรู้เรื่องอิเลกทรอนิกส์มาก่อน แต่ผมยังพอซ่อมได้และซ่อมค่อนข้างจะถูกหลักการณ์ เพราะผมตั้งใจจะเอาดีทางด้านนี้ เพราะฉนั้น "เพื่อนๆทุกคนก็น่าจะซ่อมได้แบบผม ถ้าตั้งใจและให้เวลากับมัน ผมมั่นใจครับว่าทำได้" เราต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้ 1.ชัดเจนใน เรื่องของอิเลกทรอนิกส์เบื้องต้น ไม่ยากอย่างที่คิดครับ เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องของอิเลกทรอนิกส์ เรารู้แค่ตัว C R L ทำงานอย่างไรก็พอแล้วครับ สามารถวัดได้ก็พอแล้วครับ ( แต่ถ้ารู้มากกว่านี้ก็ดีนะครับ ) 2.ชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างการทำงานของวงจรโทรศัพท์และอ่านลายวงจรได้ ส่วนนี้ก็ไม่ยากครับ ถ้าเราเข้าใจแล้วเราจะเข้าใจเลย ค่อยๆทำความเข้าใจกับมัน 3.ชัดเจนในเรื่องของการวิเคราะห์และตรวจสอบ ส่วนนี้ก็ไม่ยากครับ ถ้าเข้าใจในส่วนที่ 2 เพราะ"ถ้าเราวิเคราะห์อาการได้แคบเท่าไร เราก็ซ่อมได้หายเร็วเท่านั้น " กระทู้ในส่วนของ ฮาร์ดแวร์ จะมีโอ๊กมหาชัยและออมสิน PAmobile กระทู้ในส่วนของ ซอฟแวร์ จะมี อาจารย์Krit Audsky น้าเสและต้อม แค่ 3 อย่างนี้ก็พอแล้วครับ ทางทีมงานจะช่วยเพื่อนๆตลอดนะครับ รู้อะไรมา ถ่ายทอดให้หมด ไม่มีกั๊ก ทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ ติดขัดอะไรโทรสอบถามได้ เรามาเริ่มในส่วนของอิเลกทรอนิกส์ก่อนแล้วกันนะครับ แรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าทั้งสองสิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่เราควรศึกษากันก่อน 1.แรงดันไฟฟ้า คือ ความต่างศักย์ของประจุไฟฟ้าบวกและประจไฟฟ้าลบ ใช้ตัวย่อด้วยตัว E มีหน่วยเป็นโวลต์ V 2.กระแสไฟฟ้า คือ ความสามารถที่จะให้เกิดการเคลื่อนที่ของ อิเลกตรอน ใช้ตัวย่อด้วยตัว I มีหน่วยเป็นแอมแปร์ A (การเคลื่อนที่ของอิเลกตรอน ก็คือการไหลของกระแสไฟฟ้าถ้าไม่มีการเคลื่อนที่ดังกล่าวก็จะไม่เกิดกระแส ไฟฟ้า) ทั้ง 2อย่างนี้ต้องมาคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ เช่น แบต 1 ก้อน มีแรงดันไฟฟ้า 3.6 V มีกระแสไฟฟ้า 750 mAh(มิลลิแอมป์ต่อชั่วโมง) 3.ความต้านทานไฟฟ้า คือ ค่าความต้านทานไฟฟ้า ใช้ตัวย่อด้วยตัว R มีหน่วยเป็นโอห์ม (1 โอห์มคือค่าความต้านทานที่ทำแรงดันไฟฟ้า 1 โวลต์ ไหลผ่านตัวมันเองแล้วเกิดกระแสไฟขึ้น 1 แอมแปร์) 4.กำลังไฟฟ้า คือ ใช้ตัวย่อด้วยตัว P มีหน่วยเป็นวัตต์ W ใช้สำหรับให้ เรารับรู้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชนิดใช้กำลังไฟเท่าไร และใช้สำหรับการคำนวนคิดค่าไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ (กำลังไฟ 1 วัตต์ก็คือ เราป้อนแรงดันไฟฟ้า 1 โวลต์ ให้ไหลผ่านความต้านทาน 1 โอห์ม และมีกระแสไฟไหลผ่าน 1แอมแปร์) เรื่องไฟฟ้ากระแสสลับและไฟฟ้ากระแสตรง(ที่เราใช้กันในวงจรโทรศัพท์มือถือ) 1. ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือ ไฟเอซี A.C. คือไฟฟ้าที่ไหลสลับทิศทางตลอดเวลา โดยที่ขั้วบวกกับขั้วลบจะไม่คงที่ (มีการเคลื่อนไหวตลอด)เช่นไฟตามบ้านเรือนทั่วๆไป 220 V 50 Hz ก็คือ มีแรงดันไฟออกมา 220 โวลต์ มีขั้วบวกและขั้วลบ สลับกัน 50 ครั้ง ต่อ 1 วินาที ซึ่งไฟประเภทนี้ยังแบ่งระบบออกเป็น ระบบเฟสเดียว 2 สาย โดยที่เราใช้กันตามบ้านๆ ทั่วๆไป เส้นหนึ่งจะเป็นสายไฟ ย่อด้วยตัว L (เส้นนี้มีไฟนะครับห้ามจับ) ส่วนอีกเส้นเป็นสายดิน ย่อด้วยตัว N สายเส้นนี้จะถูกต่อลงดิน ส่วนอีกระบบหนึ่งคือ ระบบ 3 เฟส 4 สาย ไฟระบบนี้ใช้กันตามโรงงานหรือตามอาคารบ้านเรือน ระบบนี้จะมีสายที่มีไฟ 3 เส้น เส้นดิน 1 เส้น ค่าแรงดันที่ได้จะเป็น 380 V กับ 220 V 2.ไฟฟ้ากระแสตรง หรือไฟ ดีซี D.C. (ที่เราใช้ในวงจรโทรศัพท์ของเรานั้นเอง ) ไฟประเภทนี้ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ากระแสตรง ก็คือ ไฟฟ้าจะไหลทางเดียวตลอด โดยมีขั้วบวกและขั้วลบคงที่ เช่นในวงจรโทรศัพท์จะทำมาอย่างชัดเจนว่าขาไหนเป็นบวก ขาไหนเป็นลบ สลับกันไม่ได้ แบตเตอรี่ หรือ ซัพพลาย ที่เราใช้ก็คือแหล่งพลังงานกระแสตรงชนิดหนึ่ง เพราะฉนั้นเรื่องพวกนี้เราไม่ควรมองข้าม มีประโยชน์กับการซ่อมมากครับ ความรู้เพิ่มเติม! แบตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นแหล่งพลังงานชนิดหนึ่งที่สามารถประจุไฟฟ้า ใหม่ได้ ถ้าเป็นแบตรุ่นก่อนๆ(ถ่านนิกเกิล แคดเมียม) เราสมควรจะต้องใช้ให้แรงดันนั้นหมดเสียก่อนแล้วถึงจะเริ่มชาร์ทได้แต่ถ่านใน รุ่นใหม่ๆ (ถ่านลิเธี่ยม ไอออน) ถ่านประเภทนี้สามารถชาร์ทไฟได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องรอให้แรงดันหมด ตัวต้านทานหรือตัว R ( Resistor ) ตัวต้านทาน หรือ ตัว R ที่เราเห็นกันในบอร์ดให้เต็มไปหมด น้อยคนที่จะรู้จักตัว R อย่างเข้าใจ ตัว R (Resistor) เป็นตัวต้านทานมีหน่วยเป็น โอห์ม ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นตัวต้านทาน ถ้าเรานำตัว R มาใช้ในวงจร หน้าที่ของมันก็คือ ลดแรงดันไฟฟ้าและลดกระแสไฟฟ้า เช่น เมื่อเรามีแบตหนึ่งก้อนแรงดันไฟ 6 V แต่เราต้องการจะต่อกับหลอดไฟที่ใช้แรงดัน 3 V ถ้าเราต่อตรงเลยหลอดไฟก็จะขาด เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ตัวช่วยที่จะช่วยลดแรงดันและกระแสไฟฟ้านั้นก็คือตัว R นั่นเอง ไฟจ่ายมา 6 V ต่อผ่านตัว R มันก็จะทำให้แรงดันนั้นลดลงเหลือแค่ 3 V หลอดไฟก็จะใช้ได้ไม่ขาด ความรู้เพิ่มเติม! ถ้าค่า R มีค่ามาก ก็จะลดแรงดันไฟฟ้าได้มาก (ทำให้แรงดันไฟออกมาน้อย) ถ้าค่า R มีค่าน้อย ก็จะลดแรงดันไฟฟ้าได้น้อย วิธีการอ่านค่า R อย่างง่ายในวงจรโทรศัพท์ ปกติ ตัว R มีหลายประเภท แต่ผมจะพูดถึง R ที่อยู่ในวงจรโทรศัพท์ ถ้าเราดูในลายวงจรของแต่ละรุ่นจะมีค่า R บอกอยู่ที่ตัวมันเองอยู่แล้ว ทีนี้เรามาดูค่า R กันก่อนว่าค่า R มีอะไรบ้าง ค่า R 1000 โอห์ม เท่ากับ 1 k โอห์ม ค่า R 1000k โอห์ม เท่ากับ 1M โอห์ม มาถึงตรงนี้แล้วไม่งงนะครับ ทำความเข้าใจให้ดีครับ ถ้าเข้าใจแล้วจะเข้าใจเลย ในวงจรโทรศัพท์ ถ้าตัว R ที่มีขนาดเล็กมาก(ตัวเล็กๆสีดำ) จะไม่มีตัวเลขกำกับ ค่าความต้านทาน เราจะต้องดูจากวงจรเท่านั้น แต่ถ้าตัว R ที่มีขนาดพอที่จะใส่ค่าในตัวมันได้ ก็อ่านค่าได้เลย ถ้าค่าเป็น 3R9 เวลาอ่านค่าจะได้ 3.9 โอห์ม ถ้ามีตัวอักษร R อยู่ตรงกลางระหว่างเลขให้เราใช้มันเป็นค่า จุดทศนิยมในตำแหน่งกลาง เช่น ค่า 4R7 เวลาอ่านค่าจะได้ 4.7 โอห์ม ไม่งงนะครับ ถ้าค่าเป็น R22 เวลาอ่านค่าจะได้ 0.22 โอห์ม ถ้ามีตัวอักษร R อยู่ข้างหน้าเลขจะใช้แทนเลขจุดทศนิยมในตำแหน่งหน้าเลข เช่น R35 เวลาอ่านค่าจะได้ 0.35 โอห์ม (ถ้าไม่เข้าใจอ่านให้เข้าใจนะครับ) ถ้าค่าเป็น 102 เวลาอ่านค่าจะได้ 1000 โอห์ม หรือ 1k วิธีอ่านก็คือ เลขสองตัวหน้าคือ 10 เลขตัวที่สาม คือ 2 ( เลข 2 ก็คือจำนวน ศูนย์ 2 ตัวนั่นเอง) เพราะฉะนั้น 10 เติมศูนย์ 2 ตัว ก็จะได้ 1000 โอห์ม หรือ 1 k ถ้าค่าเป็น 4k7 เวลาอ่านค่าจะได้ 4.7 k โอห์ม ถ้ามีตัวอักษร k อยู่ตรงกลางระหว่างเลข ให้แทนเป็นจุดทศนิยมเหมือนกับหัวข้อ ที่ 1 แต่ตัวลงท้ายมีหน่วยเป็น k โอห์มเท่านั้นเอง เช่น 2k4 ค่าที่อ่านได้ก็จะเป็น 2.4 k โอห์ม ทีนี้มาดูการตั้งค่ามิเตอร์เข็ม ที่ใช้สำหรับวัดค่า R กันครับ ต่อไปมาดูการตั้งค่ามิเตอร์ ว่าจะตั้งค่าเท่าไรในการวัดตัว R ก่อนจะทำตามนี้ต้องเข้าใจในการอ่านค่าตัว R ให้ดีก่อนและก็ต้องรู้ว่าค่า กี่ โอห์มเป็น 1 k (ถ้ายังไม่เข้าใจอย่าพึ่งวัดนะครับ เดี๋ยว งง ไปใหญ่ ) ถ้าค่าตัว R มีค่าตั้งแต่ 0.1 โอห์ม - 100 โอห์ม ให้ตั้งค่ามิเตอร์ที่ X 1 ถ้าค่าตัว R มีค่าตั้งแต่ 10 โอห์ม - 1k โอห์ม ให้ตั้งค่ามิเตอร์ที่ X 10 ถ้าค่าตัว R มีค่าตั้งแต่ 100 โอห์ม - 10k โอห์ม ให้ตั้งค่ามิเตอร์ที่ X 100 ถ้าค่าตัว R มีค่าตั้งแต่ 1k โอห์ม - 100k โอห์ม ให้ตั้งค่ามิเตอร์ที่ X 1k ถ้าค่าตัว R มีค่าตั้งแต่ 100k โอห์ม - 20M โอห์ม ให้ตั้งค่ามิเตอร์ที่ X10k การวัดค่า R นั้นสามารถวัดในวงจรก็ได้ แต่ไม่เสมอไป ( ผมไม่อธิบายนะครับ เดี๋ยวงง แต่จำแบบนี้ดีกว่า "การวัดค่าตัว R พยายามถอดมาวัดนอกวงจรดีกว่า จะได้ค่า R ที่ชัดเจน) ที่สำคัญก่อนทำการวัดเราจะต้องรู้ค่าของตัว R ก่อน แล้วถึงจะทำการวัด แต่การวัดด้วย มิเตอร์เข็ม ไม่ใช่ว่าเรา รู้ค่า R แล้ว รู้วิธิการตั้งค่ามิเตอร์แล้วจะทำการวัดได้เลย ต้องทำการเทียบสอบมิเตอร์เข็มก่อนทุกครั้งเพื่ออะไรหรือครับ ถ้าเราไม่ทำการเทียบสอบมิเตอร์เข็ม ก่อนทำการวัดจะทำให้เรา วัดค่า R เพี้ยนไปนะครับ แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ดิจิตอล ก็ง่ายครับ ทีนี้เรามาดูวิธี " การเทียบสอบมิเตอร์เข็มกันก่อน " การเทียบสอบมิเตอร์เข็ม การเทียบสอบมิเตอร์เข็ม นั้นสำคัญเหมือนกันนะครับ เพราะถ้าเราไม่เทียบสอบค่าที่เราวัดจะเพี้ยนหมด วิธีการเทียบสอบทำโดยการนำสายมิเตอร์ ดำ-แดงมาชนกัน แล้ว ต้องให้ได้ค่า 0 โอห์ม (เข็มตีไปสุดด้านขวามือ) ตัวปรับค่าแล้วทำให้อยู่ตำแหน่ง 0 โอห์ม ต้องทำทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนค่ามิเตอร์ เช่นถ้าเราตั้ง X1 แล้วเราต้องการวัดที่ X10 ก็ต้องตั้งค่าทุกครั้ง ลองทำตามเลยนะครับ แล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ถ้าเรานำสายมิเตอร์ดำ-แดง มาแตะกันแล้ว สเกลที่เข็มตีไม่สุด อาจจะเกิดจาก ถ่านในมิเตอร์เอง หรืออาจจะเกิดจาก วงจรภายในของมิเตอร์มีปัญหา ( ถ้าให้ดีใช้มิเตอร์ แท้ น่าจะทนกว่า ) ความรู้เพิ่มเติม! ถ้าเราวัดตัว R แล้วได้ค่าตามวงจรก็ปกติครับ แต่ถ้าเราวัดตัว R แล้ว มีค่ามากกว่าตามวงจร แสดงว่า R ตัวนั้น ยืดค่า หรือถ้าวัดแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นแสดงว่า R ขาด ครับเป็นไงบ้างครับ ยังงงอยู่หรือเปล่า อย่าลืมตั้งค่ามิเตอร์ให้ถูกต้องนะครับ สำคัญมาก ตัว R ดี ตั้งค่ามิเตอร์ผิดทำให้ งมเข็มได้นะครับ เทคนิค ! ถ้าเราวัดตัว R แล้ว ค่าไม่ขึ้นอะไรเลย อย่างนี้เขาเรียกว่า R ขาด ต้องเปลี่ยนสถานเดียว ถ้าเราวัดตัว R แล้ว ค่าที่ได้สูงกว่าค่าของตัวมัน อย่างนี้เขาเรียกว่า R ยืดค่า ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน โดยปกติ R ที่ยืดค่านั้น จะมากกว่าประมาณ 2-3 เท่า ตัวอย่างตัว R ( อยู่ในวงจรของ 3100 เป็นตัว R306 มีค่าเท่ากับ 27 K ) ลองวัดตามนะครับ ภาพจากโทรศัพท์จริงๆ วิธีการวัด คำถาม ตัว R ที่เห็นในภาพ เป็น R ที่มีค่า 27 K เราต้องตั้ง ค่ามิเตอร์เข็มที่เท่าไรครับ ถ้าตั้งค่าถูกแล้ว ก็เริ่มวัดเลยครับ แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ดิจิตอล ก็สามารถทำการวัดได้เลย ตัว R ตัวนี้สามารถวัดในวงจรได้ครับ ไม่ต้องถอดมาวัดนอกวงจร " แต่ถ้าให้ดี เพื่อกันลืม ควรถอดมาวัดนอกวงจร" ความรู้เพิ่มเติม ! มิเตอร์นั้น สามารถแบ่งได้แบบนี้นะครับ มิเตอร์เข็ม อันนี้เพื่อนๆรู้จักกันดี อันนี้ไม่ต้องอธิบายมากนะครับ มิเตอร์ดิจิตอล จริงๆแล้วมิเตอร์ดิจิตอล เป็นมิเตอร์ที่มีการวัดค่าได้แบบ ออโตคือ เราปรับค่ามิเตอร์ ไปที่การวัดค่าตัว R หรือ โหมดโอห์ม เมื่อเราทำการวัด โดยจิ้มสายมิเตอร์ทั้ง 2 เส้น ไปที่ตัว R ค่าที่ได้จะแสดงผลทันที ( ต้องดูความสามารถของมิเตอร์ตัวเองก่อนนะครับว่า ความสามารถของมิเตอร์ที่ใช้อยู่สามารถวัดค่า R ได้ต่ำสุดเท่าไร สูงสุดเท่าไร (เช่นมิเตอร์ Unit t70B ) จะมีมิเตอร์ดิจิตอลอีกประเภทหนึ่ง ( พวกมิเตอร์ถูกๆ ) มิเตอร์พวกนี้ยังไม่ถือว่าเป็นมิเตอร์ดิจิตอลเหมือนแบบแรก ( ความเห็นของผมนะครับ ) เพราะมิเตอร์พวกนี้ มีการแสดงผลเป็นดิจิตอลจริง แต่เราต้องมาปรับสเกล เหมือน มิเตอร์เข็ม เพราะฉนั้น มิเตอร์พวกนี้ ถือเป็นพวกเดียวกับมิเตอร์เข็ม แต่การแสดงผลต่างกันคือ มิเตอร์เข็มแสดงผลแบบ สเกล ,มิเตอร์ดิจิตอลแบบถูก มีการแสดงผลแบบดิจิตอล ตัว C หรือตัวเก็บประจุ ( Condensor หรือ Capacitor) คอนเดนเซอร์ หรือ คาพาซิเตอร์ ตัว C หรือเรียกชื่อเต็ม ๆ คาปาซิเตอร์ หรือ คอนเดนเซอร์ แต่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตัว C หน้าที่หลักๆของมันก็คือ ทำหน้าที่เก็บประจุไฟฟ้าและคายประจุไฟฟ้า (ปกติหน้าที่มีเยอะกว่านี้นะครับ)ไม่ต้องสนใจมากนะครับ ว่าภายในมันประกอบไปด้วยอะไร แค่ให้รู้หน้าที่และลักษณะการต่อก็พอแล้ว ตัว C แบ่งออกได้แบบนี้นะครับ 1.ตัว C แบบไม่มีขั้ว สามารถสลับขั้วไปมาได้ จะไม่มีสัญลักษณ์อะไรให้เห็นบนตัว C ตัว C แบบนี้จะมีอยู่มากที่สุดในวงจรโทรศัพท์มือถือ ค่าที่ตัวมันส่วนมากจะมีค่าที่น้อย 2.ตัว C แบบมีขั้ว ไม่สามารถสลับขั้วได้ ยกขึ้นมาด้านไหน เวลาวางก็ต้องวางด้านนั้น จะมีขั้วบวก ขั้วลบชัดเจน ส่วนมากจะมีสัญลักษณ์หรือจุดมาร์คบนตัวมันเลย ในวงจรจะเห็นได้น้อยครับ หน่วยของมัน ก็คือ ฟารัด (F) ไมโครฟารัด (uF) นาโนฟารัด (nF) และ พิโกฟารัด (pF) โดยสามารถแบ่งออกได้แบบนี้นะครับ ( หน่วยที่ใหญ่ที่สุดคือ ฟารัด แต่ไม่มีในวงจรของมือถือหรอกครับ ) 1000 พิโกฟารัด (pF) เท่ากับ 1 นาโนฟารัด (nF) ชุดนี้มีค่าน้อยมาก 1000 นาโนฟารัด (nF) เท่ากับ 1 ไมโครฟารัด (uF) 1,000,000 ไมโครฟารัด (uF) เท่ากับ 1 ฟารัด ( F ) กาวัดค่าตัว C สามารถทำการวัดได้ 2 แบบ แต่ละแบบก็วัดได้ไม่เหมือนกัน ไม่ต้องกังวลนะครับ วัดง่าย ( แต่จำไว้นะครับ ต้องวัดนอกวงจรเท่านั้น ) ขึ้นอยู่กับมิเตอร์ดิจิตอลด้วยนะครับ ว่ามิเตอร์ตัวนั้นวัดได้ ต่ำสุด สูงสุดเท่าไร ถ้าใช้ดิจิตอลมิเตอร์วัด จะวัดได้เฉพาะค่าความจุของตัว C โดยจะบอกเป็นตัวเลขตามค่าของตัวมันเอง (แต่ต้องถอดออกมาวัดนอกบอร์ด)ถ้าใช้มิเตอร์เข็มวัด เราจะรู้ว่าตัว C มีการความสามารถที่จะเก็บและคายประจุได้ตามคุณสมบัติของตัวมันเอง โดยต้องถอดตัว C ออกมาวัดนอกบอร์ดหรือยกขาข้างใดข้างหนึ่งให้ลอยจากบอร์ดก่อนโดยการวัดเราจะ ต้องทำการวัดอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยการสลับสายมิเตอร์ ถ้าตัว C ที่มีสภาพดี เมื่อเราทำการวัดครั้งแรก เข็มมิเตอร์จะขึ้นแล้วลงสู่ที่เดิม เมื่อเราสลับสายมิเตอร์แล้ววัดอีกที เข็มมิเตอร์ก็จะขึ้นมากกว่าครั้งแรกแล้วกลับลงสู่ที่เดิม การวัดตัว C สามารถวัดกี่ครั้งก็ได้ เพราะคุณสมบัติของตัว C มีการคายและเก็บประจุ หากไม่มีการคายประจุ(การคายประจุคือการทำให้ค่าประจุในตัว C หมดไปโดยการ โหลด หรือทำให้ขั้วของตัว C ทั้ง 2 ข้างแตะถึงกันแต่ถ้าใช้มิเตอร์วัดจะไม่เป็นการคายประจุ) เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้มิเตอร์วัดตัว C กี่ครั้งก็ได้ การวัดตัว C ที่ถูกต้องต้องตั้งค่าที่มิเตอร์ให้ถูกต้องด้วย ก่อนการวัดถ้าเรารู้ค่ามิเตอร์ที่ต้องการวัดกับตัว C แล้ว ต้องมีการเทียบสอบมิเตอร์ทุกครั้ง โดยการนำปลายสายมิเตอร์ทั้ง 2 ด้านมาชนกัน ( ยังจำกันได้หรือเปล่าครับ ) การอ่านค่าตัว C ใช้หลักการเดียวกับการอ่านค่าตัว R นะครับ ( ลืมหรือยังครับ ถ้าลืมย้อนกลับไปอ่านใหม่ครับ อย่าพึ่งอ่านต่อ ) การอ่านค่าจะคล้ายๆกับ ตัว R ครับ ปกติในวงจรโทรศัพท์จะมีตัว C ประเภทไม่มีขั้วอยู่เยอะ(แล้วก็จะไม่มีค่าบอกที่ตัวมันด้วย เนื่องจากตัวมันเล็ก) แต่ถ้าเป็นตัว C ที่ตัวใหญ่ขึ้นมาหน่อยเช่น ในวงจรของ 3310 (C575)จะมีค่าบอกที่ตัวของมันเอง คือ 686 ค่าที่อ่านได้คือ 68,000,000 พิโกฟารัด pF (ยังจำการแปลงค่าได้หรือเปล่าครับ) แปลงให้มันอ่านง่ายหน่อยก็คือ 68 ไมโครฟารัด uF ( 1 ไมโครฟารัด เท่ากับ 1 ล้านพิโกฟารัด) วิธีอ่านก็คือ 2ตัวหน้าคือ เลข 68 ส่วนตัวที่สาม ก็คือเลข 6 แทนจำนวน ศูนย์ 6 ตัว เช่น ถ้าค่าตัวC คือ 201 ค่าที่อ่านได้ ก็คือ 200 พิโกฟารัด เลขสองตัวแรกคือ 20 เลขตัวที่สามคือ 1 ก็แทนศูนย์ 1 ตัว รวมกันแล้วก็ได้ 200 พอดีแต่จริงๆ แล้ว ให้อ่านจากค่าลายวงจรเลยง่ายที่สุดครับ (อธิบายมาตั้งนาน) แต่ก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลยจริงหรือเปล่าครับ ถ้าวัดโดยใช้มิเตอร์เข็มวัด ต้องตั้งค่ามิเตอร์ที่เท่าไร ถ้าตัว C มีค่าไม่เกิน 1000 พิโกฟารัด (PF) ตั้งมิเตอร์ที่ X10k ถ้าตัว C มีค่าตั้งแต่ 1000 PF ถึง 1UF ตั้งมิเตอร์ที่ X10k - X1K ถ้าตัว C มีค่าตั้งแต่ 1 UF ถึง 100 UF ตั้งมิเตอร์ที่ X1k - X100 ถ้าตัว C มีค่าตั้งแต่ 100 UF ถึง 1000 UF ตั้งมิเตอร์ที่ X100 - X10 ถ้าตัว C มีค่าตั้งแต่ 1000 UF ขึ้นไป ตั้งมิเตอร์ที่ X10 - X1 เทคนิค ! ภาษาที่เขาใช้เรียกกัน นะครับ ตัว C แห้ง ก็คือ ค่าความจุในตัวของตัว C ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลงด้วย ตัว C รั่ว ก็คือ ภายในตัว C มีการเสื่อมสภาพจากภายใน ทำให้ แรงดันไฟที่ผ่านตัว C มีการไหลลงกราว เป็นบางส่วน ( เจอบ่อย ) ตัว C ช๊อต ก็คือ ภายในตัว C เกิดการเสื่อมสภาพแบบใช้การไม่ได้แล้ว มีการช๊อตจากขา C ทั้ง 2 ด้าน หรือ ช๊อตจากบวกไปลบ ลักษณะการต่อของตัว C ภายในวงจรของโทรศัพท์มือถือ จำไว้ให้ดีนะครับ ! การต่อของตัว C ในวงจรโทรศัพท์มีแค่ 2 อย่างเท่านั้นเอง เน้นนะครับ ว่าต้องจำให้ได้ สำคัญกับการเช็คลายวงจรและวิเคราะห์อาการของเครื่องที่เราจะ ซ่อม การต่อตัว C แบบฟิลเตอร์ ดูรูปประกอบนะครับ แล้วเริ่มดูจากจุดที่ 1 ถึง จุดที่ 3 ตัว C ที่ต่อเป็นแบบ ฟิลเตอร์ เพื่อกรองให้ไฟ DC เดินเรียบ การต่อ C ลักษณะนี้เป็นการต่อเพื่อกรองทำให้ไฟ DC เดินเรียบขึ้น การต่อแบบนี้มีขั้ว บวก ขั้วลบ ชัดเจน โดยมากคนทั่วๆไปจะคิดว่า ตัว C เป็นตัวผ่านไฟ DC แต่จริงๆแล้วการทำงานของมันก็คือ ยอมให้ไฟผ่านได้ชั่วขณะตอนที่เก็บประจุเท่านั้น พอประจุเต็มไฟ DC ก็ไม่สามารถผ่านได้ แล้ว ต้องรอให้ตัวมันเองคายประจุก่อน ถึงจะยอมให้ไฟผ่าน ไม่ต้องจำก็ได้นะครับไม่สำคัญมากเท่าไร สรุปได้ว่า ถ้าแหล่งจ่ายไฟมา 3 V แล้วผ่านตัว C (ฟิลเตอร์)แล้วตัว C เก็บประจุเต็ม ค่าที่ออกจากตัว C ก็จะเป็น 3 V ไม่มีมากกว่าหรือน้อยกว่าแต่กระแสไฟจะเดินเรียบขึ้น แต่ถ้าเราถอดตัว C นี้ออก ไฟที่ขั้วบวกก็ยังออกอยู่ แต่ไฟจะเดินไม่เรียบเท่ากับมีตัว C ต่ออยู่ การต่อตัว C แบบคับปลิ้ง ( Coupling ) ถ้าตัว C ต่อแบบคับปลิ้ง การต่อลักษณะนี้ส่วนมากจะอยู่ในภาคสัญญาณ (การต่อแบบ คับปลิ้ง Coupling) การต่อแบบนี้จะไม่มีขั้วบวก ขั้วลบ (ตัวC แบบไม่มีขั้ว)ถ้าต่อแบบนี้คือการต่อ เพื่อส่งผ่านสัญญาน แต่ไฟ DC จะผ่านไม่ได้นะครับ (ต่างกับการต่อแบบฟิลเตอร์) สังเกตุง่ายๆ ครับ ถ้าการต่อแบบฟิลเตอร์ จะเป็นการต่อในลักษณะกรองกระแสไฟ ทำให้ไฟเดินเรียบขึ้นส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับระบบไฟต่างๆ ภายในวงจรโทรศัพท์ แต่ถ้าต่อแบบ คับปลิ้ง จะเป็นการต่อเพื่อการถ่ายทอดสัญญาน หรือเชื่อมวงจรให้เข้าหากัน แต่ไฟ DC ผ่านไม่ได้นะครับ ส่วนมากอยู่ในภาคสัญญาน และที่เกี่ยวกับ ลำโพง ไมล์ เป็นต้น ดูรูปภาพประกอบนะครับ บทสรุปของการต่อ C แบบต่างๆ ( จำให้แม่นนะครับ ไม่ยากครับ ) การต่อตัว C แบบฟิลเตอร์ การต่อลักษณะนี้ ตัว C ด้านหนึ่งจะลงกราวเสมอ สามารถยกออกได้ (แต่ไม่สมควรยกออก) ต่อเพื่อกรองแรงดันและกระแสไฟให้เดินเรียบขึ้น จำแค่นี้ก็พอแล้วครับ การต่อตัว C แบบคับปลิ้ง การต่อลักษณะนี้ ตัว C จะไม่มีด้านใดลงกราว ไม่สามารถยกออกได้ ต่อเพื่อส่งผ่านสัญญาณและกรองสัญญาณไม่ให้ไฟผ่าน จำแค่นี้ก็พอแล้วครับ ตัว L หรือขดลวด (COIL) เป็นอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ตัวอื่น ตัว L ทำหน้าที่เหนี่ยวนำหรือลดความเร็วของกระแสไฟฟ้า ( จำแค่ว่าลดความเร็วของกระแสก็พอแล้วครับ ) มีหน่วยเป็น เฮนรี่แต่ถ้าอยู่ในวงจรของโทรศัพท์มือถือ ตัว L จะมีค่าน้อยกว่า เฮนรี่ ค่าของมันคือ มิลลิเฮนรี่หรือ Mh ถ้าอยู่บนวงจรโทรศัพท์มือถือจะมีตัวใหญ่กว่าตัว R สีออกดำๆ ตัว L ส่วนมากถ้าอยู่ในวงจรโทรศัพท์จะอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับแรงดันไฟและกระแสไฟ ส่วนมากจะอยู่ต่อจาก แบตเตอรี่หรืออยู่ในวงจรชาร์จ แต่ก็มีอยู่ในภาคสัญญาณด้วย การวัดค่าตัว L การวัดค่าตัว L เลยต้องมีมิเตอร์สำหรับวัดค่าตัว L แต่เราไม่จำเป็นต้องไปรู้ค่าของมันหรอกครับ ไม่มีผลกับการซ่อมโทรศัพท์เท่าไร การวัดค่าตัว L เราวัดแค่ว่าตัว L มันขาดหรือไม่ก็เท่านั้นเอง โดยใช้มิเตอร์ธรรมดาวัดก็ได้เหมือนกัน โดยการวัดถ้าเป็นมิเตอร์เข็มก็ตั้งค่าไปที่ X1 (อย่าลืมทำการเทียบสอบก่อนนะครับ ) แล้วก็ทำการลองวัดได้เลย ถ้าวัดด้วยมิเตอร์เข็มแล้ว ได้ค่าสเกลตรงกับที่เราเทียบสอบมิเตอร์ ก็แสดงว่าตัว L ไม่ขาด ใช้งานได้ปกติ ส่วนมิเตอร์ดิจิตอลก็ปรับไปที่ การวัดค่าความต้านทานต่อเนื่องหรือโหมดเสียง ( มิเตอร์เข็มห้ามใช้โหมดเสียงนะครับ ) แล้วก็ทำการวัดได้เลย ทำการวัดโดยการ แตะสายดำแดงไปที่ขั้วของตัว L สลับไปมาได้ ถ้ามีเสียงก็แสดงว่า ตัว L ไม่ขาดใช้งานได้ปกติ การวัดตัว L ถ้าวัดเพื่อให้ดูว่าขาดหรือไม่ สามารถวัดในวงจรได้เลยครับ ไม่ยาก มาทำความรู้จักกับโครงสร้างของเครื่อง NOKIA เครื่องโทรศัพท์โนเกีย เป็นเครื่องที่มียอดขายมากที่สุดในประเทศรวมถึงประเทศอื่นด้วย ส่วนในเรื่องของการรับงานซ่อมนั้นเครื่องที่เป็นโนเกีย จะเป็นเครื่องที่แวะเวียนมาให้เราซ่อมค่อนข้างจะมากที่สุด การจะซ่อมเครื่องโนเกียให้ได้ดีนั้น อย่างแรกเลยเราต้องรู้จักการทำงานของโครงสร้างโนเกียให้ดีซะก่อน ( เรื่องอิเลกทรอนิกส์เบื้องต้นก็สำคัญไม่แพ้กัน )เครื่องตระกรูลโนเกียไม่ว่าจะเป็น ตระกรูล DCT3 ,DCT4, WD2 ,BB5 เป็นต้น หลักการทำงานค่อนข้างจะเหมือนกัน อาจจะเพิ่มรายละเอียดบางจุดเข้ามา แต่ลักษณะการทำงานยังคงเหมือนเดิม การแบ่งกลุ่มของโนเกียตามที่กล่าวมาแต่ต้น เค้าจะแบ่งลักษณะของกลุ่มตามลักษณะการทำงานของ Chip บนบอร์ด ผมแบ่งได้แบบนี้นะครับ ( ความเห็นส่วนตัว ) การแบ่งกลุ่มนั้น เราสามารถดูได้จาก โปรแกรมแฟลช ของ Tornado หรือ N-box เป็นต้น ( ขึ้นอยู่กับ เวอร์ชั่นของตัวโปรแกรมด้วยนะครับ เวอร์ชั่นยิ่งใหม่ รุ่นก็ยิ่งมากขึ้น ) ตามภาพนะครับ ( เพื่อนๆที่รู้แล้วอาจจะน่าเบื่อหน่อยนะครับ ) การแบ่งกลุ่มของเครื่องโนเกีย แบ่งตามแบบนี้นะครับ ( ความเห็นส่วนตัว ใครจะแนะนำเพิ่มก็ได้นะครับ ) การแบ่งกลุ่มของเครื่องโนเกีย นั้นจะแบ่งตามกลุ่มของ Chip บนบอร์ดเป็นหลักเพื่อลดต้นทุนของทางผู้ผลิตเอง ถ้าทางโนเกียเค้าผลิตโทรศัพท์ออกมา 1 รุ่นแล้วใช้อะไหล่ของใครของมัน ก็ค่อนข้างจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย พอสมควร ดังนั้นเค้าก็จะผลิตเพื่อให้สามารถใช้ Chip ได้ร่วมกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ( จากการวิเคราะห์ส่วนตัวนะครับ ) ที่นี้มาดูว่ามันต่างกันอย่างไร กลุ่มที่เป็น DCT 3 กลุ่ม นี้เป็นกลุ่มที่ออกมาตั้งแต่ชุดแรกๆของทางโนเกีย ( จำไม่ได้ว่าออกตัวไหนก่อน ) แต่คุณสมบัติของกลุ่มนี้ ไม่มีอะไรพิเศษมาก (ถ้าเทียบกับปัจจุบัน ) ตัวเครื่องจะเป็นจอแบบ โมโนหรือจอขาวดำ ไม่สามารถถ่ายรูปได้ เสียงเรียกเข้ายังเป็นแบบโมโนธรรมดา หน่วยความจำภายในตัวเครื่องก็ยังน้อยเพราะ ลูกเล่นยังน้อยอยู่ รุ่นที่ออกมาตอนนั้นก็มี 3310,3350,8210,8250,8850เป็นต้น ลักษณะของ Chip บนบอร์ดที่ใช้ด้วยกันได้หลายรุ่นก็มี Ccont ,Cobba ,Hagar ,Chaps เป็นต้น Chip บนบอร์ดของรุ่นนี้ที่เป็น Chip หลักๆก็มีอยู่ 12 ตัว กลุ่มที่เป็น DCT 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกพัฒนา ต่อเนื่องมาจากตระกูล DCT 3 คุณสมบัติของรุ่นนี้ที่เห็นเด่นชัดตอนนั้นเลย ก็คือ เสียงเรียกเข้าเป็นระบบ โพลีโฟนิค และก็มีการแสดงผลทางจอภาพเป็นแบบจอสี (บางรุ่นของกลุ่มนี้ที่เป็นจอขาวดำหรือจอโมโน ก็ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ) ลักษณะเด่นอีกก็คือเริ่มมีระบบกล้องและระบบวิทยุเข้ามาเสริมในตัวเครื่อง ด้วย ระบบความจำภายในตังเครื่องก็มีขนาดใหญ่ขึ้น รุ่นที่ออกมาตอนนั้นก็คือรุ่น3510,3530,6510,8310,3100,6610,7250 เป็นต้น คุณสมบัติที่เด่นสุดตอนนั้นก็คือ มีการยุบรวม Chip บนบอร์ดเข้าด้วยกัน ให้เหลือน้อยที่สุด เช่นมีการยุบรวม Chip ของ DCT 3 เช่น CcontCobba , Chaps ( ไอซีชาร์จ ) มายุบรวม แล้วเหลือ Chip ตัวเดียวคือ UEM บางรุ่นมีการยุบรวม IC Flash กับ IC Ram เข้าด้วยกันเป็น Combo Chip บนหลักๆ บนบอร์ดก็มีอยู่ประมาณ 8 ตัวจำนวน Chip น้อยลงก็จริง แต่ประสิทธิภาพการทำงานก็มากขึ้น กลุ่มที่เป็น WD 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มพิเศษ ที่พัฒนาต่อเนื่องจากกลุ่ม DCT 4 คุณสมบัติที่เด่นชัดที่สุดของกลุ่มนี้คือ มีการนำเอาในส่วนของซอฟแวร์ ซิมเบี้ยน OS เข้ามาทำงานร่วมกับระบปฎิบัติการของโนเกียด้วยครับปกติระบบปฎิบัติการของ Nokia ซึ่งเราเรียกระบบปฎิบัติการในส่วนนี้ว่า NOS ซึ่งจะทำงานในส่วนของระบบ Main ของเครื่องคือในส่วนของพวกไฟล์แฟลช แพ็คภาษา ต่างๆเป็นต้น แต่ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับตระกูล WD2 นั้นจะมีระบบปฎิบัติการ Symbian OS ( ซิมเบี้ยน โอเอส ) หรือเรียกว่าระบบ EPOC ระบบนี้จะทำงานในส่วนของ Application ในเครื่องเช่นโปรแกรมที่เราลงเสริมลงไปในตัวเครื่องเช่น เกมส์ ทีมส์ เป็นต้น เมื่อนำระบบปฎิบัติการซิมเบี้ยน เข้ามาผสมกับระบบปฎิบัติการหลักของโนเกีย ก็เลยได้เครื่องที่เป็นตระกูล WD2 คุณสมบัติเด่นของรุ่นนี้ก็คือ สามารถทำการลงโปรแกรมเสริมได้ มีฟังก์ชั่นการทำงานที่เพิ่มขึ้น ขนาดหน้าจอก็ใหญ่ขึ้น คุณภาพของสีก็ดีขึ้น สามารถฟังเพลง MP3 ได้ หน่อวยความจำในตัวเครื่องก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เก็บข้อมูลได้มากขึ้น มีหน่วยความจำภายนอกมาเสริมมี IC บูลธูท เป็นต้น รุ่นที่ออกมาก็มีรุ่น 6600,7610 ,6260 ,3230 เป็นต้น เครื่องตระกูลนี้มีการเปลี่ยนลักษณะ IC อยู่บ้างแต่ยังคง เป็น CHip ที่มีลักษณะการทำงานอิงอยู่กับตระกูล DCT 4 และยังไม่มีการพัฒนา รุ่นใหม่ๆออกมาอีก Chip บนบอร์ดรุ่นนี้ จะมี IC Flash มากกว่า 1 ตัว เพื่อทำให้เก็บข้อมูลได้มากขึ้น Chip บนหลักๆ บนบอร์ดจะมีอยู่ระหว่าง 11-14 ตัว ส่วนมากจะเพิ่มมาในรูปของ IC Flash กลุ่มที่เป็น BB5 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ล่าสุด ที่ดูเหมือนจะต่อยอดมาจากตระกูล WD2 แต่ก็ต่อยอดมาเฉพาะในส่วนที่มีโปรแกรม ซิมเบี้ยน ( แต่เป็นซิมเบี้ยน คนละเวอร์ชั่นกับ WD2 ) แต่จริงๆแล้วเครื่องตระกูล BB5 เป็นกลุ่มที่มีการพัฒนาใหม่เกือบทั้งหมด ทั้ง Chip บนบอร์ดเองหรือโซนของการทำงาน ที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ( เป็นกลุ่มที่ผมชอบที่สุด เพราะเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ) เครื่องในตระกูล BB5 มีการทำงาน แบบ One CPU ( ไม่มีระบบซิมเบี้ยน เข้ามาเกี่ยวข้อง ) ซึ่งก็ได้แก่รุ่นพวก 6270 ,6280 ,6131,6085 เป็นต้น (มี CPU 1 ตัว ) ทำงานในส่วนของ NOS อย่างเดียว แบบ Two CPU ( มีระบบซิมเบี้ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ) ซึ่งได้แก่รุ่นพวก N70, N72 ,6680,6681 เป็นต้น ( มี CPU 2 ตัว ) ทำงานในส่วนของ NOS และ EPOC แยกการทำงานคนละส่วน แต่มีบางส่วนทำงานประสานกัน ในเครื่องตระกูล BB5 เป็นเครื่องที่ฟังก์ชั่นการทำงานที่เยอะมาก ทั้งประสิทธิภาพของการแสดงผลที่คมชัด สามารถถ่ายรูปได้ มีทั้งกล้องหน้า กล้องหลัง มีอุปกรณ์เชื่อมต่อภายนอกได้เช่น MMC เป็นต้น เมื่อคุณสมบัติของเครื่องเยอะขนาดนี้ ลำพัง CPU ตัวเดียวคงจะทำงานไม่ทัน ก็เลยต้องมี CPU เพิ่มมาอีกตัวเป็น 2 ตัว ( ในส่วนของที่มีระบบซิมเบี้ยน ) ระบบจ่ายไฟตัวเดียวก็คงไม่พอก็ต้องมี Chip จ่ายไฟเพิ่มมาอีก 1 ตัว Chip RF ก็เหมือนกันต้องมี 2 ตัว แยกการทำงานอย่างชัดเจน โดยแบ่งภาครับ ภาคส่งออกจากกัน , Chip ที่เก็บข้อมูลเช่นพวก IC Flash ก็เหมือนกัน มีหน่วยความจำที่เยอะขึ้น Chip หลักๆบนบอร์ดจะมีอยู่ระหว่าง 10 ตัวขึ้นไป อาจถึง 15 ตัว การแบ่งภาคการทำงานในส่วนโครงสร้างของ NOKIA การที่เราจะซ่อมโทรศัพท์มือถือนั้น การที่เราจะซ่อมได้ดีนั้น เราสมควรที่จะมีความชัดเจนเรื่องโครงสร้างให้ดีก่อน การแบ่งภาคการทำงานนั้น สำคัญเหมือนกัน เพราะเราจะรู้ว่า ภาคไหนทำงานอย่างไร โดยผมจะแบ่งภาคจากการทำงานเป็นหลัก ( จากประสบการณ์ส่วนตัว น่าจะเข้าใจง่ายกว่า ) ภาค BB หรือภาค Base Band ภาคนี้เป็นภาคที่เกี่ยวกับ การทำงานในส่วนของระบบ Main ของเครื่องโทรศัพท์ทั้งหมด พวกการเปิดปิดเครื่อง การประมวลผลของเครื่องในส่วนต่างๆ การทำงานในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นภาคพื้นฐานทั้งหมด ถ้าภาคนี้ทำงานไม่สมบูรณ์ จะส่งผลให้ภาคอื่นๆไม่สามารถทำงานได้ หรือเครื่องอาจจะเปิดไม่ติดหรือเปิดติดไม่สมบูรณ์ ภาค RF หรือภาค Radio Frequency ภาคนี้เป็นภาคที่ทำงานในส่วนของที่ควบคุมและทำงานเกี่ยวกับภาครับภาคส่งของ โทรศัพท์ หรือภาคสัญญาณนั่นเองครับ ส่วนนี้มีความสำคัญไม่แพ้กับภาค BB แต่ส่วนนี้จะทำงานได้ ต้องให้ภาค BB ทำงานก่อนนะครับ คือเครื่องจะต้องเปิดติดและต้องมีการใส่ "ซิมการ์ด" ก่อน ภาค RF ค่อนข้างจะเป็นปัญหากับช่างซ่อมซะส่วนใหญ่เพราะยังไม่เข้าใจกับระบบการทำงาน ในภาคนี้ ( ไม่ต้องห่วงนะครับ ผมจะพยายามอธิบายให้เข้าใจ แต่ต้องเข้าใจในภาค BB ให้ดีก่อน ) โหมดการทำงานของเครื่อง โนเกีย 1.Pwr_off โหมดนี้เป็นโหมดที่มีการจ่ายไฟจากแหล่งจ่ายไฟเข้าเครื่องแล้ว ไม่ว่าจะจ่ายจ่ายแบตเตอรี่หรือจ่ายจากซัพพลาย แต่ยังไม่มีการกดสวิชย์ที่ตัวเครื่อง พูดง่ายๆก็คือเครื่องยังไม่มีการเปิดนั่นเอง rมีการจ่ายไฟรอที่เครื่องแล้ว แต่ยังไม่มีการกดสวิชย์ " 2.Pwr_on โหมดนี้เรียกอีกอย่างว่า Normal mode โหมดนี้จะเป็นโหมดที่ต่อเนื่องจากโหมด Pwr_off คือเป็นโหมดที่มีการจ่ายไฟเข้าตัวเครื่องแล้วแล้วมีการกดสวิชย์ เพื่อให้ IC Power ทำงาน หรือเรียกกันง่ายๆว่า เครื่องมีการเปิดติดนั่นเอง "มีการจ่ายไฟ แล้วมีการกดสวิชย์ให้ เครื่องเปิดติด" 3.Sleep_mode โหมดนี้เป็นโหมดที่ต่อเนื่องจากโหมด Normal mode เรียกง่ายๆว่า โหมดหลับชั่วขณะ โหมดนี้จะเกิดได้เครื่องจะต้องเปิดติดก่อน แล้วเมื่อ "ไม่มีการตอบสนองจากภายนอกเข้ามาเลย เช่น การกดปุ่ม การโทรเข้าออก การชาร์จ เป็นต้น " เครื่องถึงจะเข้า Sleep mode ระยะเวลาที่เครื่องก่อนเข้า Sleep mode คือไม่การตอบสนองจากภายนอกเป็นระยะเวลา 15 วินาทีประโยชน์ของโหมดนี้ก็คือ ประหยัดพลังงาน แรงดันไฟบางจุดหรือสัญญาณนาฬิกาบางจุด จะหยุดทำงานชั่วขณะ เป็นการประหยัดพลังงาน
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   General Board
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...